นิทานนายแสนปม (นิทานเกี่ยวกับที่มาของพระเจ้าอู่ทอง)
กาลครั้งหนึ่งในสมัยที่ไทยยังตกอยู่ภายใต้อำนาจของขอม มีกษัตริย์ไทยพระนามว่า
“เจ้าพรหม ” พระองค์คอยที่จะกอบกู้อิสรภาพให้คนไทยพ้นจากอำนาจขอม
ต่อมาอาณาจักรขอมเริ่มอ่อนแอลง เพราะมีชีวิตที่สะดวกสบายมานานและประมาทคนไทย
เพื่อปลดแอกให้คนไทยหลุดพ้นจากขอม เจ้าพรหมนำกำลังทหารบุกเข้าจู่โจมขอม
และประสบความสำเร็จในการยึดเมืองขอมไว้ เจ้าพรหมได้เสด็จขึ้นครองราชย์ขึ้นเป็นกษัตริย์พระนามว่า
พระเจ้าพรหมแห่งเมืองเชียงแสน
ต่อมา กษัตริย์มอญ มีประสงค์ที่จะขยายอาณาเขตจึงได้ยกทัพมาตีเมืองเชียงแสน
พระเจ้าพรหมเห็นว่าข้าศึกที่ยกทัพมานั้นมีกำลังมากเกินที่จะต้านไหว
ดังนั้นพระองค์จึงตัดสินใจทิ้งบ้านทิ้งเมือง และอพยพชาวเมืองมุ่งลงมาทางใต้เข้ามาชายแดนเขตเมืองกำแพงเพชรพบซากเมืองเก่า
พระองค์จึงโปรดให้ซ่อมแซมเมืองแล้วขนานนามเมื่อว่า “นครไตรตรึงษ์”
ว่ากันว่า พระมหากษัตริย์ครองราชย์เรื่อยมาจนถึง 3 ชั่วคน พอถึงรัชกาลที่ 3 พระเจ้าไตรตรึงษ์มีพระธิดาองค์หนึ่งที่มีหน้าตางดงามมีนามว่า “อุษา” พระบิดาทรงรัก และหวงแหนพระธิดามาก
จึงทรงสร้างปราสาทให้พระธิดาอยู่ต่างหาก จัดหาข้าราชบริพารคอยรับใช้อยู่ตลอดเวลา
วันหนึ่งในขณะเดินเล่นในสวนพระธิดานึกอยากเสวยมะเขือขึ้นมา จึงสั่งพี่เลี้ยงไปนำมะเขือมาให้
แต่พี่เลี้ยงก็หามะเขือไม่ได้สักผลในวัง จึงอาสาออกไปหามะเขือนอกพระราชวัง ใกล้ ๆกับกำแพงพระราชวัง
มีชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ “แสนปม” อาศัยอยู่ที่นั่นที่เนื้อตัวของเข้าเต็มไปด้วยปุ่มปมนับแสนนับพันแต่ว่าเขาเป็นคนขยันและ
ร่าเริง เขาทำมาหากินด้วยการปลูกผักแล้วนำไปขายในเมือง
แสนปมปลูกผักชนิดต่างๆไว้มากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเขือ
แต่เขามีนิสัยแปลกประหลาดคือชอบถ่ายปัสสาวะรดต้นมะเขือที่ปลูกไว้ ก็เลยทำให้ต้นมะเขืองอกงามได้อย่างแปลกประหลาดในขณะทำงานอยู่ในสวน
พี่เลี้ยงของพระธิดาไปพบเข้าจึงได้ขอซื้อมะเขือของเขา
หลังจากได้มะเขือแล้วพี่เลี้ยงก็กลับเข้าสู่วังแล้วนำมะเขือที่ได้
ไปให้ห้องเครื่องปรุงมาถวาย แต่หลังจากเสวยมะเขือเข้าไปแล้ว พระธิดาก็ทรงครรภ์โดยไม่ได้สมสู่กับชายใดเลย
เมื่อพระธิดาให้กำเนิดพระโอรสแล้ว พระเจ้าไตรตรึงษ์มีความต้องการที่จะหาบิดาของหลานของพระองค์
แต่ก็ต้องรอจนหลานเจริญวัยและคลานได้เสียก่อน ต่อมา
พระเจ้าไตรตรึงษ์ทรงรับสั่งให้เป่าประกาศให้ทุกคนหาของมาถวายพระนัดดาของพระองค์
และทรงกล่าวว่าผู้ใดก็ตามที่เป็นบิดาของกุมารนี้
เมื่อเขาถวายสิ่งใดแก่พระกุมารขอให้พระกุมารชอบสิ่งของของผู้นั้น
ในครั้งนั้นแสนปมก็ถูกเรียกให้เข้าร่วมในพิธีด้วย
แต่เขาไม่มีอะไรที่จะถวายพระกุมารเลยนอกจากข้าวสุกเพียงก้อนหนึ่งเท่านั้น
แต่ก็น่าประหลาดที่พระกุมารชอบก้อนข้าวสุกของเขาเป็นพิเศษ
เหตุการณ์นี้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนทั้งหลายในที่นั้น ทำให้พระเจ้าไตรตรึงษ์รู้สึกอัปยศอดสูยิ่งนัก
จึงรับสั่งให้ลงโทษโดยให้นำพระธิดาและพระนัดดาไปลอยแพตามแม่น้ำพร้อมกับนายแสนปม
แต่ทันทีที่แพลอยมาถึงไร่ของนายแสนปม พระอินทร์ทรงรู้ของนายแสนปมด้วยความสงสารจึงปลอมตัวเป็นลิง
แล้วเอากลองสารพัดนึกมาให้นายแสนปมหนึ่งใบ แล้วสั่งว่าหากปรารถนาสิ่งใดก็ให้ตีกลองใบนั้น
แต่ให้ตั้งสัตย์อธิฐานได้เพียงสามครั้งเท่านั้นด้วยความดีใจอย่างยิ่ง
นายแสนปมจึงตั้งอธิฐานขอให้ปมที่เกิดขึ้นทั่วตัวหายไป หลังจากตีกลองปมเหล่านั้นก็หายหมด
เมื่อตีกลองครั้งที่สองก็ตั้งอธิฐานขอให้มีบ้านเมืองครอบครอง
และเมื่อตีครั้งที่สาม ก็ขอให้ได้เปลทองคำสำหรับบุตรชายของเขาได้นอน
และแล้วแสนปมก็ได้สิ่งปรารถนาทั้งสามประการนั้น
ด้วยบุญญาธิการนี้ พระโอรสก็ได้บรรทมในเปลทองคำจึงได้นามว่า “อู่ทอง“แสนปมเองก็ได้เป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า
“เจ้าศิริชัยเชียงแสน” ครองเมืองที่เนรมิตขึ้นนั้นและตั้งชื่อเมืองว่า
“เมืองเทพนคร” หลังจากสิ้นพระชนม์ลง
เจ้าชายอู่ทองก็ขึ้นครองราชย์และปกครองอยู่เป็นเวลา 6 ปีก่อนที่จะย้ายราชธานีไปอยู่ที่อยุธยา
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น